พิธีถวายสลากภัตต์
สลากภัตต์ การมีพิธีต่างๆ กันตามท้องที่นั้นๆ บางแห่งก็ต่างคนต่างถวายผลไม้ และภัตตาหารนั้นๆ บางแห่งก็ต่างคนก็ถวายผลไม้และภัตตาหารรวมกันแล้ว มีผู้นำกล่าวคำถวายว่าพร้อมกัน แบ่งถวายอาหารโดยส่วนเฉลี่ยสงฆ์เท่าๆ กัน พระที่ฉันรวมกัน แต่บางแห่งต่างคนต่างจัดสำรับคาวหวานและผลไม้ ต่างแยกกันถวายเฉพาะของตนถ้าจับฉลากได้เลขที่เท่าไหร่ ก็จัด ณ สถานที่นั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ๆ ปักสลากไว้ ถ้าพระน้อย เจ้าภาพมาก ก็รวมกันหลายคนต่อ ๑ สลาก ฝ่ายพระเณรก็จับสลากด้วยเหมือนกันใครจับสลากได้เลขที่เท่าไหร่ ก็ไปนั่งประจำที่นั่นตามหมายเลขของตน เมื่อพร้อมแล้วก็กล่าวคำถวายพร้อมกันก็มี แยกกันกล่าวคำถวายเฉพาะของคณะตนก็มี แต่โดยมากรวมถวายพร้อมกัน พระสงฆ์ท่านก็อนุโมทนาพร้อมกัน ถ้าแยกกันถวาย ท่านก็จะแยกกันอนุโมทนาเช่นเดียวกัน ตามพิธีนี้แม้จะยุ่งยากอยู่บ้าง แต่ก็ตรงตามความหมาย คำว่าสลากภัตต์และเป็นการสนุกสนานของคณะเจ้าภาพด้วย เพราะเป็นการประกวดประขันกันในตัวและเชื่อว่าเป็นสังฆทานโดยแท้เพราะเจ้าภาพ ก็ไม่รู้จักพระเณรพระเณรก็ไม่รู้จักเจ้าภาพมาก่อนรู้กันก็ต่อเมื่อพระมานั่ง ตรงสลากของตนใครชอบพิธีไหนก็เลือกทำพิธี การถวายสลากภัตต์นี้ โดยมากแล้วจะทำการจัดที่วัดเพราะจำเป็นต้องใช้บริเวณกว้างๆ พระไปนั่งฉันตามโคนต้นไม้ ข้างศาลาบ้าง บางรายเจ้าภาพจัดทำปะรำพิธีชั่วคราวขึ้น หรือใช้เต๊นท์ร่มกางกั้น ที่รู้สึกสนุกตอนพระและเณรเที่ยวเดินหาสลากของท่านตามหมายเลขไม่ค่อยพบได้ ง่ายนัก เพราะเจ้าภาพซิกแซกนิดหน่อย
คำถวายสลากภัตต์ถวายรวมกัน ว่าดังนี้
เอตานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุกัฎฐาเน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสลากภัตต์กับภัตตาหารและของบริวารเหล่านี้ อันตั้งไว้แล้วในที่โน้น แต่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งสลากภัตต์กับทั้งของบริวารเหล่านั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ .
อานิสงส์ถวายสลากภัตต์ เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ
เรื่องเล่าอานิสงส์ในสมัยพุทธกาล
เพราะบุญในคราวนี้เป็นการทำบุญแตกต่างกว่าธรรมดา เพราะมีการจับสลาก แล้วก็ถวายไปตามรายชื่อพระภิกษุสามเณรที่จับได้นั้น การทำบุญนี้ เป็นการไม่จำเพาะเจาะจง ว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใดหรือ สามเณรองค์ใดก็ยินดีถวายทั้งนั้นเป็นการกำจัดกิเลสชนิดหนึ่งเรียกว่าอคติ เสียได้ ทาน ศีล การฟังธรรม ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ปทุมมุตตระ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถีนครเป็นที่โคจรบิณฑบาต
มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นคนยากจนอนาถา อยู่ในพระนครนั้น แสวงหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างหาฟืนขาย อยู่มาวันหนึ่งบุรุษผู้สามี พิจารณาดูการเลี้ยงชีพ ที่ฝืดเคืองนัก ก็เนื่องมาจากตนมิได้บำเพ็ญกองการกุศล มีการให้ทานรักษาศีล สดับรับฟังพระธรรมเทศนาและเจริญ เมตตาภาวนา เป็นต้น ในชาติปางก่อน อย่างแน่นอน มาในชาตินี้จึงเป็นคนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญา เมื่อมาพิจารณาดังนี้แล้ว จิตใจก็อยากจะทำบุญให้ทาน เพื่อจะได้เป็นนิธิขุมทรัพย์ เป็นเสบียง ไปในปรภพเบื้องหน้า จึงปรึกษากับภรรยาของตน ตามที่เจตนาดำริไว้นั้น ฝ่ายภรรยาก็คล้อยตามไปด้วยความยินดี รีบจัดแจง หาเครื่องไทยทาน ทำตามสมควร แก่กำลังของตน แล้วนำไปสู่อารามทำเป็นสลากภัตต์พร้อม กับมหาชนทั้งหลาย สามีภรรยาคู่นั้นจับสลากถูกภิกษุรูปหนึ่ง จึงน้อมเข้าไปถวายด้วยความปีติ แล้วตั้ง ความปรารถนาว่า เดชะบุญกุศลผลทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าบริบูรณ์ด้วยยศศักดิ์สมบัติบริวาร ขึ้นชื่อว่าความตกทุกข์ได้ยากเข็ญใจ เหมือนในชาตินี้ อย่าได้พึงมี แก่ข้าพเจ้า ในภพต่อ ๆ ไปเลย สามีภรรยาคู่นั้นอยู่ต่อมาจนสิ้นอายุขัย ทำกาลกิริยาตายไปแล้วก็อุบัติ ในดาวดึงส์สวรรค์สิ้นบุญแล้วก็มาเกิดเป็น พระเจ้าศรัทธาติสสะ ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าศรัทธาติสสะนั้นครั้นกลับชาติมาก็คือพระตถาคตนี้เอง
เมื่อสิ้นกระแสพระธรรมเทศนาแล้วเหล่าพุทธบริษัท ทั้งหลาย มีพระเจ้าปัสเสนทิโกศลเป็นต้น ก็ชื่นชมผลทานในการถวายสลากภัตต์เป็นยิ่งนัก
อานิสงส์อีกอย่างจากการให้ทาน
๑. ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รัก ที่พอใจของคนหมู่มาก
๒. สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ใช้งาน
๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรไป
๔. ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
๕. ผู้ให้ทานหลังตายแล้วย่อมเกิดในสุคติ
|