ประวัติวัดโบสถ์แจ้ง |
|
อ้างอิง
อ่าน 7343 ครั้ง / ตอบ 1 ครั้ง
|
พระสมุห์
|
ประวัติวัดโบสถ์แจ้ง
เกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมาและก็เข้าสู่สงครามไทยพม่าสู้รบกัน เมื่อเป็นสงครามกันขึ้น หรือเมื่อสงครามเกิดขึ้นเมื่อใด ที่ไหนๆก็ตาม เป็นหลักธรรมดาอยู่เอง ว่าทั้งฝ่ายชนะ และฝ่ายพ่ายแพ้ก็ต้องประสพซึ่งความพินาศย่อยยับเสียหายมากมาย ทั้งทรัพย์สินสิ่งของประชาชนพลเมืองต้องมาล้มตายบาดเจ็บพิการและสูญหายเกือบเสมอกันและศิลปะวัฒนธรรม ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมา ก็จะค่อยๆพากันเสื่อมโทรมลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็เป็นไปตามหลักธรรมขององค์พระบรมศาสดา ที่ตรัสไว้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนั้นมีเจริญและเสื่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปดังนี้
วัดโบสถ์แจ้ง เดิมทีนั้นชื่อวัดโบสถ์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี และเดิมทีนั้นในหมู่บ้านนี้มีวัดร้างอยู่ ๕ วัด ด้วยกันคือ ๑.วัดโบสถ์ ๒.วัดหลวง ๓.วัดสุด ๔.วัดขวิด ๕.วัดแจ้ง การปกครองคณะสงฆ์ในสมัยโน้น ขึ้นอยู่กับเจ้าคณะมณฑลเป็นผู้ดูแล ดังนั้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๑๔ หลังเสียกรุงศรีอยุธยาลงไม่นาน เจ้าคณะมณฑล ได้มอบหมายคำสั่งให้หลวงปู่ทัด ไปทำการมาบูรณปฏิสังขรณ์ใน ๕ วัด โดยเลือกเอาวัดหนึ่ง ให้เป็นวัดที่ถูกฟื้นฟู และมีพระสงฆ์สามเณรอยู่ประจำ เพื่อที่จะได้ให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นหลวงปู่ทัดจึงเดินทางมาดู และเห็นวัดโบสถ์นี้มีความร่มรื่นดีและมีโบสถ์ร้างตั้งอยู่ ถือว่าเป็นทำเลภูมิประเทศสงบสงัดดี การเดินทางในสมัยนั้นใช้เรือพายเป็นพาหนะกันเป็นหลักตามสภาพของกาลสมัย ความเจริญด้านวัตถุยังไม่เป็นเช่นทุกวันนี้ เมื่อหลวงปู่ทัดเลือกเอาวัดโบสถ์เป็นวัดที่จะพัฒนาแล้ว ก็ไปที่วัดพระพุทธบาท เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทและตั้งจิตอธิษฐาน ถ้าแม้นมีบุญมีวาสนาอยู่อยู่คู่วัดโบสถ์แล้ว ก็ขอให้การบูรณปฏิสังขรณ์เป็นไปด้วยความราบรื่นโดยตลอดด้วยเถิดจากนั้นแล้ว วัดโบสถ์ก็ค่อยเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับจนกระทั่งปัจจุบัน
ประวัติวัดโบสถ์แจ้ง
วัดโบสถ์แจ้ง ตั้งอยู่เลขที่ ๔๙ บ้านโคกกะเดื่อง หมู่ที่ ๕ ตำบลตลาดน้อย อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๔๑ ตารางวา ในโฉนดเลขที่ ๑๑๑๑๖
อาณาเขต ทิศเหนือ จดทางสาธารณะ
ทิศใต้ จดที่เอกชน
ทิศตะวันออก จดที่เอกชน
ทิศตะวันตก จดทางสาธารณะ
ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ แปลง
โฉนดที่ดินเลขที่๑๐๑๓๕ จำนวน ๙ ไร่ ๑ งาน ๘๐ ตารางวา
โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๙๔ จำนวน ๒๓ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
อุโบสถ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๒๘ เมตร หลังเดิมสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นอาคารไม้ ทรงไทย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ต่อเติมให้กว้างโดยมีลักษณะทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นลักษณะศาลาแฝด
กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑๐ หลัง เป็นอาคารไม้ ๘ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ หลัง
วิหารอดีตเจ้าอาวาส กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๓.๕๐ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔
ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๑ หลัง ลักษณะทรงไทย ชั้นเดียวยกพื้น ก่ออิฐถือปูน
นอกจากนี้มี ฌาปนสถาน(เมรุ) ๑ หลัง วิหารคต ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง หอกลอง ๑ หลัง โรงครัว ๒ หลัง เรือนเก็บพัสดุ ๑ หลัง เรือนพักน้ำ ๑ หลัง
ปูชนียวัตถุ พระประธานในอุโบสถ ปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว สูง ๓๕ นิ้ว
พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว สูง ๓๕ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
วัดโบสถ์แจ้ง สร้างเมื่อใดไม่ทราบ แต่ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
การบริหารงานและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ
๑. พระทัด (หลวงปู่ทัด)
๒. พระครูศรีสรณารักษ์
๓. พระครูสมหาธรรมวิทิต (แฟง ปุพฺพโก)
๔. พระครูกสิณสังวร (ปาน ปภสฺสโร) พ.ศ. ถึง พ.ศ. ๒๕๓๐
๕.พระครูธรรมกิจจานุกูล (สมบุญ ปุญฺญวฑฺฒโน) พ.ศ. ๒๕๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๘
๖. พระครูโอภาสธรรมกิตติ์ (เล็ก ฐานุตฺตโร) พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน
อนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางวัดโบสถ์ได้ขอวัดแจ้งซึ่งอยู่ติดกับวัดโบสถ์ มาบูรณปฏิสังขรณ์ และได้ขออนุมัติจากทางกรมการศาสนา และได้รับอนุมัติอนุญาตให้รวมเป็นวัดเดียวกัน แต่ต้องคงชื่อเดิมไว้ ดั้งนั้นจึงต้องเป็นวัดโบสถ์แจ้ง ตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้
|
|
พระสมุห์ [113.53.70.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|