ฝากข้อความด่วน




ปริวาสกรรมโดยสังเขป

เมื่อ 26/12/2013


(เมื่อมาถึงวินัยกรรมเกี่ยวกับการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งกล่าวไว้ในหมวดนี้ ควรจะได้ทราบความหมายเกี่ยวกับศัพท์ และลำดับการปฏิบัติซึ่งกล่าวถึงในหมวดนี้ก่อน ซึ่งมีดังนี้
              ๑.การอยู่ปริวาส คือการลงโทษให้ต้องอบรมตัวเอง เท่ากำหนดเวลาที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แล้วปิดไว้ ถ้าปิดไว้กี่วันกี่เดือน ก็จะต้องอยู่ปริวาสเท่านั้นวันเท่านั้นเดือน.
              ๒. การชักเข้าหาอาบัติเดิมหรือมูลายปฏิกัสสนา คือในขณะที่อยู่ปริวาสก็ตาม ประพฤติมานัตต์ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ก็ตาม เธอไปต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำกับที่ต้องไว้เดิมเข้าอีก ก็จะต้องเริ่มตั้งต้นถูกลงโทษไปใหม่ คือต้องขอกลับเริ่มต้นถูกลงโทษในลำดับแรกอีก.
              ๓. การประพฤติมานัตต์ เมื่ออยู่ปริวาสครบกำหนดที่ปิดไว้แล้ว หรือถ้าไม่ได้ปิดไว้เลย ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส คงประพฤติมานัตต์ทีเดียว การประพฤติมานัตต์ คือการถูกลงโทษให้ต้องประจานความผิดของตนแบบปริวาส แต่มีกำหนด ๖ ราตรี ไม่ว่าจะปิดไว้หรือไม่ปิดอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประพฤติมานัตต์ ๖ ราตรี เหมือนกันหมด.
              ๔. การสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสสหรืออัพภาน เมื่อภิกษุถูกลงโทษให้อยู่ปริวาส (ถ้าปิดอาบัติไว้) และให้ประพฤติมานัตต์ถูกต้องแล้ว ก็เป็นผู้ควรแก่การสวดถอนจากอาบัตินั้น การสวดถอนจากอาบัตินี้ เรียกว่าอัพภาน ต้องใช้ภิกษุประชุมกันไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป.
              ในระหว่างที่ถูกลงโทษเหล่านี้ ภิกษุถูกตัดสิทธิมากหลาย ทั้งยังต้องคอยบอกความผิดของตนแก่ภิกษุผู้ผ่านไปมาและบอกในที่ประชุมสงฆ์ เมื่อทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย รวมความว่า เป็นการลงโทษที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษรู้สึกว่าหนักมาก ต้องเกี่ยวข้องกับสงฆ์ส่วนมาก โดยการประจานตัวและการสวดประกาศหลายขั้นหลายตอน).
ตัดสิทธิภิกษุผู้อยู่ปริวาส
              สมัยนั้น ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ยินดีการกราบไหว้ เป็นต้น ของภิกษุปกติ (คือผู้ไม่ต้องอาบัติ) พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงวางข้อกำหนด มิให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสยินดีการกราบไหว้, การนำที่นอนมาให้, การล้างเท้า, การตั้งตั่งรองเท้า, การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า, การรับบาตรจีวร, การถูหลังในเวลาอาบน้ำ. ถ้าขืนยินดีให้ผู้อื่นทำให้แก่ตนเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกันปฏิบัติแสดงความเคารพเอื้อเฟื้อต่อ กันดังกล่าวข้างต้นได้ตามลำดับพรรษา และทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกันทำอุโบสถ, ปวารณา, รับแจกผ้าอาบน้ำฝน, รับโอนอาหาร, รับแจกอาหารได้ตามลำดับพรรษา.
วัตร ๙๔ ข้อของผู้อยู่ปริวาส
              ทรงแสดงวัตร ๙๔ ข้อของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสิทธิต่าง ๆ ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ รวมทั้งสิ้น ๙๔ ข้อ (แต่ในที่นี้ จะเก็บใจความมากล่าวพอให้เห็นเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้)
              ๑. ไม่ให้ทำการในหน้าที่พระเถระ แม้เป็นเถระมีหน้าที่อย่างนั้นอยู่ก็เป็นอันระงับชั่วคราว เช่น ห้ามบวชให้ผู้อื่น, ห้ามให้นิสสัย (รับผู้อื่นไว้ในปกครอง) เป็นต้น.
              ๒. กำลังถูกลงโทษเพราะอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้นซ้ำ หรือต้องอาบัติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน หรือที่เลวทรามกว่านั้น.
              ๓. ห้ามถือสิทธิแห่งภิกษุปกติ เช่น ไม่ให้มีสิทธิ ห้ามอุโบสถ หรือปวารณาแก่ภิกษุปกติ ห้ามโจทท้วงภิกษุอื่น ๆ เป็นต้น.
              ๔. ห้ามถือสิทธิอันจะพึงได้ตามลำดับพรรษา เช่น ไม่ให้เดินนำหน้า ไม่ให้นั่งข้างหน้าภิกษุปกติ เมื่อมีการแจกของ พึงยินดีของเลวที่แจกทีหลัง ทั้งนี้หมายรวมทั้งที่นั่ง ที่นอน และที่อยู่อาศัย
              ๕. ห้ามทำอาการของผู้มีเกียรติหรือเด่น เช่น มีภิกษุปกติเดินนำหน้า หรือเดินตามหลัง หรือให้เขาเอาอาหารมาส่ง ด้วยไม่ต้องการจะให้ใครรู้ว่ากำลังถูกลงโทษ.
              ๖. ให้ประจานตัว เช่น ไปสู่วัดอื่น ก็ต้องบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุในวัดนั้น เมื่อภิกษุอื่นมาก็ต้องบอกอาบัติของตนนั้นแก่ภิกษุผู้มา จะต้องบอกอาบัติของตนในเวลาทำอุโบสถ เวลาทำปวารณา ถ้าป่วยไข้ต้องส่งทูตไปบอก.
              ๗. ห้ามอยู่ในวัดที่ไม่มีสงฆ์อยู่ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปอยู่วัดร้าง ซึ่งไม่มีพระ จะได้ไม่ต้องประจานตัวแก่ใคร ๆ).
              ๘. ห้ามอยู่ร่วมในที่มุงอันเดียวกับภิกษุปกตินี้ เพื่อเป็นการตัดสิทธิทางการอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นชั่วคราว.
              ๙. เห็นภิกษุปกติ ต้องลุกขึ้นจากอาสนะ ให้เชิญนั่งบนอาสนะ ไม่ให้นั่ง หรือยืนเดินในที่ หรือในอาการที่สูงกว่าภิกษุปกติ.
              ๑๐. แม้ในภิกษุผู้ถูกลงโทษด้วยกันเอง ก็ไม่ให้อยู่ร่วมในที่มุงเดียวกัน รวมทั้งไม่ให้ตีเสมอกันและกัน (ทางที่ดีไม่ให้มารวมกัน ให้ต่างคนต่างอยู่).
              ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๐ ถ้าภิกษุฝ่าฝ้น การประพฤติตัวของเธอเพื่อออกจากอาบัติ ย่อมเป็นโมฆะ มีศัพท์เรียกว่าวัตตเภท (เสียวัตร) และรัตติเฉท (เสียราตรี) วันที่ล่วงละเมิดนั้น มิให้นับเป็นวันสมบูรณ์ในการเปลื้องโทษ จะต้องทำใหม่และนับวันใหม่ในการรับโทษแก้ไขตัวเอง.
              ๑๑. ในการทำสังฆกรรมเกี่ยวกับการให้ปริวาส, การชักเข้าหาอาบัติเดิม ซึ่งต้องการสงฆ์ ๔ รูป ห้ามภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมกรรมเป็นองค์ที่ ๔ ถ้ามีภิกษุปกติ ๔ รูป แล้วภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมได้ ไม่เสียกรรม และในการสวดถอนอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุอื่น ซึ่งต้องการสงฆ์ ๒๐ รูป ภิกษุที่ถูกลงโทษจะเข้าร่วมเป็นองค์ที่ ๒๐ ไม่ได้ ต้องมีภิกษุปกติครบ ๒๐ รูป จึงใช้ได้.
              ต่อจากนี้ไป ได้แสดงถึง ภิกษุที่ถูกลงโทษในลำดับต่าง ๆ กันว่า จะต้องประพฤติวัตรเหมือนภิกษุผู้อยู่ปริวาส คือ
              ๑. ภิกษุที่ควรชักเข้าอาบัติเดิม (เพราะต้องอาบัติทำนองเดียวกันเข้าอีก ในระหว่างประพฤติตนเพื่ออกจากอาบัตินั้น).
              ๒. ภิกษุผู้ควรแก่มานัตต์ (พราะอยู่ปริวาสเสร็จแล้วหรือเพราะไม่ได้ปิดอาบัติไว้).
              ๓. ภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์ (คือกำลังประพฤติมานัตต์อยู่).
              ๔. ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน คือควรจะสวดถอนจากอาบัติได้แล้ว (เพราะอยู่ปริวาส และประพฤติมานัตต์เสร็จแล้ว).
การเสียราตรี (รัตติเฉท)
              พระอุบาลีได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องการเสียราตรี (รัตติเฉท) ของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตต์แล้วล่วงละเมิดข้อห้ามว่าจะมีต่างกันอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า การเสียราตรีของภิกษุผู้อยู่ปริวาส มีเพราะเหตุอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑. อยู่รวมในชายคาเดียวกับภิกษุอื่น ๒. อยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุ ๓. ไม่บอกหรือประจานตัวเองเกี่ยวกับอาบัตินั้นแก่ภิกษุ หรือแก่สงฆ์ แล้วแต่กรณี. ส่วนการเสียราตรีของภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์มี ๔ อย่าง คือ ๓ ข้อแรกเหมือนกับของภิกษุผู้อยู่ปริวาส เฉพาะในข้อ๔ คือประพฤติมานัตต์ในสงฆ์ที่ไม่เต็มคณะ (คือระหว่างประพฤติมานัตต์ สงฆ์ในวัดนั้นลดจำนวนลงน้อยกว่า ๔ ไม่ได้).
การเก็บปริวาสและเก็บมานัตต์
              ในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น อันทำให้ไม่สามารถอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ได้สะดวก เช่น สงฆ์มาประชุมกันมากมาย จะเที่ยวบอกประจานตัวเองให้หมดสิ้นทั่วถึงไม่ไหว ก็ทรงอนุญาตให้เก็บปริวาส หรือมานัตต์ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นปกติแล้ว จึงสมาทาน คือถือการอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ต่อไปใหม่.
               ปริวาสกรรมนอกจากเป็นวินัยกรรมเกี่ยวกับอาบัติสังฆาทิเสสแล้วยังถือว่าเป็นกิจวัตรที่สำคัญ ๑ ใน ๑๐ ประการของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาอีกด้วย
กิจวัตร ๑๐ ประการ ที่พระสงฆ์พึงกระทำ

ลงอุโบสถ
ประโยชน์ของการลงอุโบสถ ๖ อย่างคือ
๑.ส่งเสริมพระวินัย
๒.ทำให้เกิดความสามัคคี
๓.มีความบริสุทธิ์
๔.มุตตกนิสัย(คือพ้นนิสัย)
๕.คนเลื่อมใสศรัทธา
๖.พาให้เป็นอย่างที่ดี

บิณฑบาต
ประโยชน์ในการบิณฑบาต
๑.ได้เจริญตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า
๒.ได้โอกาสออกกำลังกายตอนเช้า
๓.ได้สำนึกในพระคุณของแม่
๔.ได้เห็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร
๕.ได้สงเคราะห์ทานการกุศล
๖.ได้ทำตนเป็นเนื้อนาบุญดียิ่งขึ้น

ทำวัตรสวดมนต์
ประโยชน์ของการทำวัตรสวดมนต์ ๖ อย่าง
๑.ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า
๒.เข้าใจศาสนพิธี
๓.มีจิตที่เป็นกุศล
๔.ทำตนให้กล้าหาญ
๕.ชาวบ้านศรัทธา
๖.รักษาพระสัทธรรม

กวาดวิหารลานเจดีย์
ประโยชน์ของการกวาดวิหารลานเจดีย์
๑.ได้ออกกำลังกาย
๒.ทำให้สถานที่สะอาด
๓.ปราศจากโรคภัย
๔.จิตใจคลายเครียด
๕.ขี้เกรียจจะลดลง
๖.คงไว้ซึ่ศรัทธา

รักษาผ้าครอง
ประโยชน์แก่การรักษาผ้าครอง
๑.ทำให้ตื่นแต่เช้า
๒.เอาใจใส่ในกิจวัตร
๓.ฝึกหัดจิตใจ
๔.ทำให้สุขภาพดี
๕.มีความจำเป็นเยี่ยม
๖.เตรียมตารางชีวิต

อยู่ปริวาสกรรม
ประโยชน์ในการอยู่ปริวาส
๑.ได้ปฏิบัติตามกิจวัตร
๒.ได้กำจัดอาบัติโทษ
๓.ได้โปรดญาติโยม
๔.ได้ข่มมานะละทิฏฐิ
๕.ได้ปิติปราโมทย์
๖.ได้ประโยชน์เผยแพร่พระพุทธศาสนา

โกนผมปลงหนวด
ประโยชน์ของการโกนผมปลงหนวด
๑.เป็นการประหยัด
๒.ขจัดความสกปรก
๓.ยกย่องธรรมเนียมภิกษุ

ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติครูอาจารย์
ประโยชน์ของการศึกษาปฏิบัติครูอาจารย์
๑.เข้าใจหลักของตน
๒.พ้นความสงสัย
๓.ป้องกันภัยจากอาบัติ
๔.ยืนหยัดกตัญญู
๕.เคารพครูอาจารย์

เทศนาบัติ
ประโยชน์ของการแสดเทศนาบัติ
๑.เป็นผู้ไม่ประมาท
๒.ปราศจากมลทิน
๓.มีศีลบริสุทธิ์
๔.หยุดความวิปฏิสาร
๕.ได้บอกอาบัติ (ครุกาบัติ)

พิจารณาปัจจเวกขณะ
ประโยชน์ของการพิจารณาปัจจเวกขณะ
๑.ไม่เป็นหนี้ชาวบ้าน
๒.ฉันอาหารไม่มีโทษ
๓.เป็นประโยชน์แก่กรรมฐาน

 
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :
 


เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
 
บทความธรรมะ
ศีล ๕
อานิสงส์การบรรพชาอุปสมบท
อานิสงส์บวชชีพราหมณ์
สิ่งที่สูงกว่าเงิน
สติปัฎฐาน๔
ปุจฉา ถูกซุบซิบนินทาจะทำอย่างไร
ปรัชญาสร้างความสุขโดยพระธรรมโกศาจารย์
อบายมุข ๖
สติมาปัญญาเกิด
ใครลิขิตชีวิตเรา
กฐิน
ปัจฉิมโอวาท
อานิสงส์การอนุโมทนาบุญ
พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
บทความน่าสนใจ
ปริวาสกรรมโดยสังเขป
ธงจรเข้และธงนางมัจฉา
บุญการถวายผ้าเป็นพุทธบูชา
การเวียนเทียน
ธรรมะสาระ
ประวัติวันแม่แห่งชาติ
การถวายสลากภัตต์
พิธีการกวนข้าวทิพย์
พิธีการรักษาศีลอุโบสถ
อภัพบุคคล
นามแห่งพระพุทธ
พุทธชยันตี
ประวัติตำบลตลาดน้อย
ปริวาสกรรมทั่วไทย
พระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
วันสำคัญ
วันสารทไทย
วันตรุษไทย
วันพระ วันธรรมสวนะ
วันอัฐมีบูชา
วันสงกรานต์
วันมาฆบูชา
วันวิสาขบูชา
วันลอยกระทง
เทโวโรหะณะ
วันออกพรรษา
วันเข้าพรรษา
วันอาสาฬหูบูชา
บทสวดมนต์ต่างๆ
พระคาถาต่างๆ
วีดีโอบทสวดและคาถา
แบนเนอร์ของเรา
โค๊ตแบนเนอร์เว็บของเรา
รวมเว็บไซต์ธรรมะ
เว็บไซต์ธรรมะออนไลน์
ปฎิทิน
May 2025
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
    
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
สถิติ
เปิดเมื่อ6/06/2011
อัพเดท22/11/2014
ผู้เข้าชม573624
แสดงหน้า707247
ฝากเมลล์รับข่าวสาร