มิจฉาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีมิจฉาสติ
สัมมาสมาธิ ย่อมบังเกิดแก่ผู้มีสัมมาสติ
มิจฺฉาสติสฺส มิจฺฉาสมาธิ ปโหติ
สมฺมาสติสฺส สมฺมาสมาธิ ปโหติ
(อวิชชาสูตร ๑๙/๑)
สติปัฏฐาน ๔ เป็นการปฏิบัติที่พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก(เอกายนมรรค) เมื่อปฏิบัติอย่างดีงามย่อมทำให้โพชฌงค์องค์แห่งการตรัสรู้บริบูรณ์ กล่าวคือย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ถึงที่สุด ดังที่ตรัสแสดงไว้อย่างแจ่มแจ้งในกุณฑลิยสูตร ในการศึกษาการปฏิบัติทั้งหลายไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรมก็ตามที ต่างล้วนต้องเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เสียก่อน กล่าวคือ ต้องมีปัญญาหรือวิชชาเป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จึงเริ่มลงมือปฏิบัติ จึงถูกต้องดีงาม อันจักยังผลให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องแนวทาง ดังนั้นจึงควรมีความเข้าใจด้วยการศึกษาธรรมให้เข้าใจจุดประสงค์อย่างถูกต้องด้วย เพราะเป็นที่นิยมปฏิบัติกันโดยไม่ศึกษาให้ดีงามเสียก่อน เริ่มต้นปฏิบัติก็มักเพราะเป็นทุกข์กำลังรุมเร้า หรือด้วยความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ได้ยินได้ฟังมาอยู่เนืองๆ ก็เริ่มปฏิบัติอานาปานสติหรือสติปัฏฐาน ๔ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย ดังนั้นแทนที่เป็นการฝึกสติ,ใช้สติชนิดสัมมาสติ กลับกลายเป็นการฝึกการใช้มิจฉาสติจึงได้มิจฉาสมาธิแบบผิดๆอันให้โทษ จีงเกิดขึ้นและเป็นไปตามพุทธพจน์ข้างต้น จึงอุปมาเหมือนการเรียนเคมี โดยไปปฏิบัติในห้องปฏิบัติการเสียเลย ด้วยเข้าใจว่าไปเรียนไปศึกษาจากการปฏิบัติโดยตรงคงยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นเอง ด้วยเหตุดั่งนี้เอง จึงเกิดอุบัติเหตุการระเบิดขึ้นได้ด้วยความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จะได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางสมดังพุทธประสงค์ คือสัมมาสติที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ อันเป็นสุขยิ่ง
สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นการฝึกสติใช้สติ สมดังชื่อ ที่หมายความว่า การมีสติเป็นฐาน ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ ซึ่งเมื่อเกิดสัมมาสติขึ้นแล้ว ย่อมยังให้เกิดจิตตั้งมั่นอันคือสัมมาสมาธิร่วมด้วยโดยธรรมหรือธรรมชาติ แล้วนำทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธินั้นไปดำเนินการพิจารณาในธรรมคือเจริญวิปัสสนา ในธรรมทั้งหลายดังที่แสดงในธัมมานุปัสสนา หรือธรรมอื่นใดก็ได้ตามจริต สติ ปัญญา มิได้จำกัดแต่เพียงในธรรมานุปัสสนาเท่านั้น
อานาปานสติ เป็นการฝึกสติใช้สติิ โดยการใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ที่หมายถึงเครื่องกำหนด กล่าวคืออยู่ในอารมณ์คือลมหายใจเข้าและออกอย่างมีสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาเป็นจุดประสงค์สำคัญ แต่กลับนิยมนำไปใช้เป็นอารมณ์ในการวิตกเพื่อให้จิตสงบเพื่อการทำฌานสมาธิเสียแต่ฝ่ายเดียวเป็นส่วนใหญ่หรือทุกครั้งไปเนื่องด้วยอวิชชาด้วยความไม่รู้ จึงไม่ได้สนใจการเจริญวิปัสสนาให้เกิดนิพพิทา,ให้เกิดปัญญาเลย โดยปล่อยให้เลื่อนไหลหรือสติขาดไปอยู่แต่ในความสงบสุขสบายอันเกิดแต่ภวังค์ของฌานหรือสมาธิระดับประณีตแต่ฝ่ายเดียวหรือเสมอๆ เพราะฌานสมาธินั้นยังให้เกิดความสุข ความสงบ ความสบายอันเกิดขึ้นจากภวังค์ และการระงับไปของกิเลสในนิวรณ์ ๕ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ตลอดจนนิมิตต่างๆที่เกิดขึ้นจากฌานสมาธิล้วนตื่นตาตื่นใจ อย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็วเมื่อปฏิบัติได้ผลขึ้น จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ)โดยไม่รู้ตัว ในที่สุดความตั้งใจที่ฝึกสัมมาสติอันเป็นมรรคองค์ที่ ๗ จึงกลับกลายเป็นมิจฉาสติไปโดยไม่รู้ตัว จึงได้มิจฉาสมาธิร่วมไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
หรือนิยมเข้าใจกันทั่วๆไปโดยนัยๆว่า ปฏิบัติสมถสมาธิ หรือปฏิบัติอานาปานสติ หรือปฏิบัติสติติดตามอริยาบถ ก็เพียงพอเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อันดีงามแล้ว และก็ทำอยู่แต่อย่างนั้นอย่างเดียวนั่นเอง เช่นนั่งแต่สมาธิแต่ขาดการเจริญวิปัสสนา, ดังนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงควรดำเนินประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาหรือความเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นก็ย่อมดำเนินและเป็นไปดังพุทธดำรัสที่ตรัสแสดงไว้ข้างต้น
สติปัฏฐาน ๔ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ, หรือข้อปฏิบัติที่ใช้สติเป็นประธานหรือหลัก ในการกำหนดระลึกรู้หรือพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ โดยไม่ถูกครอบงําด้วยความยินดียินร้าย(ตัณหา)ที่ทําให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริงตามอํานาจของกิเลสตัณหา หรือกล่าวได้ว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ตั้งแห่งสติ จุดประสงค์เพื่อฝึกสติ และใช้สตินั้นพิจารณาและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อให้เกิดนิพพิทาความคลายกำหนัดความยึดความอยากจากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ จึงคลายตัณหา จึงเป็นไปเพื่อนําออกและละเสียซึ่งตัณหาแลอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสด้วยความพึงพอใจหรือสุขของตัวของตนเป็นสำคัญ ที่มีในสันดานของปุถุชนอันก่อให้เกิดความทุกข์โดยตรงด้วยเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์, พระองค์ท่านแบ่ง สติปัฏฐาน ๔ ออกเป็น ๔ หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ
๑. กายานุปัสสนา การมีสติในกายเป็นอารมณ์ คือมีสติกําหนดพิจารณากาย ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย เช่น 'เป็นเพียงการประชุมกันของเหตุปัจจัยอันมีธาตุ ๔ ดิน นํ้า ลม ไฟ' (อ่านรายละเอียดในไตรลักษณ์) หรือการเกิดแต่เหตุที่เป็นของสกปรกปฏิกูลโสโครกประกอบหรือเป็นปัจจัยกันขึ้น(ทวัตติงสาการ) หรือการพิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้เกิดนิพพิทา อันล้วนเป็นไปการระงับหรือดับตัณหาแลอุปาทานโดยตรงทั้งสิ้น
ในขั้นแรกนั้น เป็นการฝึกให้มีสติเสียก่อน โดยฝึกดูลมหายใจที่หายใจเข้า ที่หายใจออก อย่างมีสติ, หรือการมีสติอยู่ในอิริยาบถของกาย แล้วใช้สตินั้นในการพิจารณากายในแบบต่างๆ ตลอดจนการเกิดดับต่างๆของกาย ฯลฯ. ล้วนเพื่อให้เกิดนิพพิทา เพื่อให้จิตลดละความยินดียินร้ายในกายแห่งตนแลบุคคลอื่นเมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงของกายนั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจหรือหลงใหลในกายแม้ตัวตนของตนหรือบุคคลอื่น เป็นการตัดกำลังตัณหาแลอุปาทานโดยตรงทางหนึ่ง ซึ่งท่านแบ่งเป็น ๖ แบบ
๑.๑ อานาปานสติ ขอเน้นว่าจุดประสงค์อยู่ที่สติ โดยให้จิตคือสติกําหนดตามดูหรือรู้ตามลมหายใจเข้าออกแบบต่างๆ ตลอดจนสติสังเกตุเห็นอาการของลมหายใจ มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้มีสตและิเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก เหตุเพราะลมหายใจนั้นก็สามารถใช้เป็นอารมณ์หรือการวิตกในการทำฌานหรือสมาธิได้ด้วย ข้อนี้จึงมักสับสนกันอยู่เนืองๆ จนก่อโทษ จึงทำสติต้องเป็นสติ สมาธิก็เป็นสมาธิ กล่าวคือเมื่อทำสติต้องเป็นสติ จึงเป็นสัมมาสติ เมื่อตั้งใจทำสมาธิแล้วเป็นสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่บางครั้งคราวในการปฏิบัติอาจมีการเลื่อนไหลเพราะสติขาดเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งเป็นคราว เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ต้องกังวล เนื่องจากบางครั้งฝึกสติก็จริงอยู่ แต่เกิดอาการขาดสติหรือสติอ่อนลงเป็นครั้งคราวบ้างจึงเลื่อนไหลไปเป็นฌานหรือสมาธิแทน อย่างนี้ไม่เป็นไร (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอานาปานสติในกายคตาสติสูตร), การตั้งกายตรง ก็เพื่อช่วยดำรงสติไว้ไม่ให้เลื่อนไหลไปง่วงหาวนอนได้ง่ายๆขณะปฏิบัติ
๑.๒ อิริยาบถ คือกําหนดสติให้ระลึกรู้ในอิริยาบถอาการต่างๆของกาย เช่น เดิน นอน ยืน นั่งฯลฯ. คือมีสติรู้ในอิริยาบทต่างๆนั่นเอง มีจุดประสงค์เช่นเดียวกับอานาปานสติคือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก ไม่ได้มีจุดประสงค์โดยตรงเพื่อใช้เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิหรือฌาน (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอิริยาบถในกายคตาสติสูตร)
ดังนั้นอานาปานสติจึงใช้ปฏิบัติเมื่อวิเวก ส่วนอิริยบถใช้โดยทั่วไปได้เนืองๆในการดำรงชีวิตประจำวัน
๑.๓ สัมปชัญญะ ความรู้ตัวคือปัญญาในการให้มีสติต่อเนื่องในการกระทําหรือการเคลื่อนไหว เช่นเดิน ดื่ม กิน ถ่าย วิ่ง ตื่น หลับ ฯลฯ. กล่าวคือมีสติอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม สติระลึกรู้อย่างต่อเนื่องสลับสับเปลี่ยนอิริยาบทกันได้ ตามที่สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง มีสติระลึกรู้ไม่เพ่งจนแน่วแน่เพื่อการเป็นสมาธิระดับสูงหรือประฌีตแต่อย่างใด ใช้แค่ขณิกสมาธิเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เพราะต้องการฝึกสติเป็นหลัก ไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นผลที่เกิดรองลงมาเท่านั้น ซึ่งอาจเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิในระดับประณีตได้โดยธรรมหรือธรรมชาติอีกด้วย แต่ต้องไม่ใช่เจตนาฝึกสติแล้วไหลเลื่อนเป็นฌานสมาธิเสียทุกครั้งไป ดังเช่น การใช้การจงกรมไปในการเจริญสมาธิเป็นสำคัญก็มี กล่าวคือการใช้ท่าการเดินนั้นเป็นอารมณ์เพื่อเน้นให้เกิดความสงบจากฌานสมาธิเสียเป็นสำคัญแต่อย่างเดียว ไม่ได้สนใจสติหรือปัญญาเลย แล้วไปเข้าใจเอาว่า ความสงบนั้นถูกต้องดีงามแล้ว มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน คือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องสัมปชัญญะในกายคตาสติสูตร) หรือการรู้ตัวทั่วพร้อมในกิจหรืองานที่กระทำนั่นเอง
๑.๔ ปฏิกูลมนสิการ เมื่อมีสติในสิ่งดังกล่าวข้างต้น จิตย่อมไม่ดำริพล่านออกไปปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงใช้สติที่ฝึกมานั้นอันย่อมประกอบด้วยสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ในที เนื่องจากการละดำริพล่านลงไปเสีย จึงนำสติและจิตตั้งมั่นนั้นไปใช้พิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายว่าล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด โสโครก ต้องเข้าใจว่ากายตน(เห็นกายในกายภายใน) และกายของบุคคลอื่น(เห็นกายในกายภายนอก)ต่างก็เป็นเฉกเช่นนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดนิพพิทาเพื่อลดละความยึดมั่นพึงพอใจหลงไหลในกายตนและในกายบุคคลอื่นลง เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่าล้วนแล้วแต่เป็นของปฏิกูลโสโครก เพื่อคลายความหลงใหลรักใคร่ยึดมั่นมันลงไป จึงคลายกำหนัด ดังมีกล่าวแสดงรายละเอียดไว้ในกายคตาสติสูตร หรือดังภาพที่แสดงในทวัตติงสาการ
๑.๕ ธาตุมนสิการ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้ว่า เป็นเพียงก้อนหรือมวลหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ อันล้วนไม่งาม ไม่สะอาด มาประชุมกันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกายนี้ชั่วขณะระยะหนึ่ง ทั้งกายตนเองและบุคคลอื่นเช่นกัน ดังที่ได้กล่าวไว้ ๒ ลักษณะในการพิจารณาในไตรลักษณ์ และกายคตาสติสูตรโดยละเอียด
๑.๖ นวสีวถิกา คือพิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ เป็นระยะๆ ๙ แบบหรือระยะ จนผุพังเน่าเปื่อยไปในที่สุด และต้องเข้าใจว่ากายตนแลผู้อื่นต่างก็ล้วนต้องเป็นเฉกเช่นนี้ ไม่เป็นอื่นไปได้(ภาพอสุภะ)
ในทางปฏิบัติของ เห็นกายในกาย คือมีสติระลึกรู้อยู่เนืองๆว่า สักแต่ว่ากายตามที่ได้พิจารณาเข้าใจ เพื่อให้บังเกิดนิพพิทาญาณ จึงดับตัณหา
อนึ่งพึงระลึกรู้ด้วยว่า การมีสติอยู่กับกาย เป็นเพียงการระลึกรู้เท่าทันกาย ทั้งทางด้านปัญญาด้วยเช่นว่าไม่งามเป็นปฏิกูลเพื่อความนิพพิทา แต่ถ้าแน่วแน่แต่อย่างเดียวขาดสติการระลึกรู้ก็กลับกลายเป็นสมถสมาธิไปได้โดยไม่รู้ตัว (หมายความว่า มีความตั้งใจฝึกสติ แต่ไปทำสมาธิเสียโดยไม่รู้ตัว)
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน สติกําหนดพิจารณาเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นธรรมดาจาการกระทบคือผัสสะ ให้เห็นเวทนาในเวทนา คือเห็นตามความเป็นจริงของเวทนาว่า 'เวทนาเป็นสักแต่ว่าเป็นการรับรู้ การเสพรสอารมณ์ที่มากระทบสัมผัสทั้งทางใจและกายคือในรูป,เสียง,กลิ่น,รส,สัมผัส,ธรรมารมณ์ เป็นขบวนการธรรมชาติหรือสภาวธรรมแท้อันยิ่งใหญ่ที่มีในมนุษย์ทุกผู้นาม เป็นเพียงขบวนการรับรู้ในขั้นแรกๆที่เอาข้อมูลมาจากสัญญา(ความจํา)อดีตหรืออาสวะกิเลส ยังไม่ใช่ความทุกข์จริงๆ พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อมีการผัสสะย่อมเกิดเวทนาอันมี สุขเวทนา ทุกขเวทนาและอทุกขมสุข(ไม่สุขไม่ทุกข์)อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งไป ซึ่งเป็นเวทนาปกติหรือเป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ หลีกเลี่ยงหลบหนีไม่ให้เกิดไม่ให้เป็นไม่ได้ เป็นหลักธรรมชาติธรรมดาๆแต่สูงสุด จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ ที่บังเกิดนั้นๆ จึงไม่เกิดตัณหาขึ้น จึงเป็นเพียงสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามธรรมหรือธรรมชาติแต่ย่อมไม่เร่าร้อนเผาลนดังเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน(เวทนูปาทาน) ดังพุทธพจน์ที่แสดงไว้ให้เข้าใจและรู้เท่าทันในเวทนาดังนี้
เมื่อเป็นสุขเวทนาก็ให้รู้ว่าเป็นสุขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
เมื่อเป็นทุกขเวทนาก็ให้รู้ว่าเป็นทุกขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
เมื่อเป็นอทุกขมสุขก็ให้รู้ว่าเป็นอทุกขมสุข เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดมีอามิส(เครื่องล่อใจ-เจือกิเลส)ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดไม่มีอามิส ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
เวทนาเป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นและจำต้องรับรู้ ที่แท้จริงก็แค่ความรู้สึกที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทบจึงไม่ควรไปยึดมั่น เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติจริงๆ ตามเหตุปัจจัยอันมาปรุงแต่ง หรือมาผัสสะ จึงเกิดๆดับๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง จึงไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริงอีกด้วย เห็นเวทนาทั้งในเวทนาตนเอง(เห็นเวทนาในเวทนาภายใน จึงไม่ใช่อาการของจิตส่งในแต่อย่างใดด้วยเข้าใจผิด) และผู้อื่น(เห็นเวทนาในเวทนาภายนอก จึงไม่ใช่อาการจิตส่งออกนอกไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งแต่อย่างใด)
ในทางปฏิบัติของ เห็นเวทนาในเวทนา คือมีสติรู้อยู่เนืองๆว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา อันย่อมต้องเกิดความรู้สึกจากการรับรู้ในอารมณ์ที่ผัสสะกันเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือตถตา จึงไม่ไม่ยึดมั่นหมายมั่นในเวทนาเหล่าใดเหล่านั้น ด้วยการอุเบกขาไม่เอนเอียงไปนึกคิดปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านอันยังให้เกิดเวทนาขึ้นอีก อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา อันทําให้เกิดทุกข์ อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม กล่าวคือไม่ต่อล้อต่อเถียงกับจิต อันเป็นการเปิดโอกาสให้จิต หลอกล่อไปปรุงแต่งต่างๆนาๆให้เกิดเวทนาๆต่างๆนาๆ อันอาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อุปาทานโดยไม่รู้ตัวด้วยความไม่รู้คืออวิชชา
(พระอภิธรรม แสดงความหมายของเวทนาภายใน ที่มิได้หมายถึงอาการจิตส่งใน และแสดงเวทนาภายนอก)
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการเห็นจิตในจิต หรือสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาจิต (จิตตสังขารหรือมโนสังขารเช่นความคิด,ความนึก คือธรรมารมณ์ต่างๆ) รวมทั้งอาการของจิตหรือกริยาของจิต(เจตสิก)เช่นราคะ, โทสะ,โมหะ, ฟุ้งซ่าน ฯ. ที่เกิดเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ คือ มีสติรู้จิตตสังขารตามสภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ(เห็นจิตในจิต)เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี, จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะก็รู้ว่าปราศจากราคะ โทสะ โมหะ, จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่าหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน ทั้งของตนเองและของบุคคลอื่น อันเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ และเห็นการเกิดๆดับๆว่าเป็นไปตามธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยงของจิตตสังขารดังกล่าว เห็นจิตในจิต หรือ จิตเห็นจิต ถ้าเข้าใจขันธ์ ๕ จักเข้าใจได้ว่าหมายถึงการมีสติเห็นจิตตสังขารที่บังเกิดขึ้น(จิตสังขารหรือมโนสังขารหรือความคิดในขันธ์๕นั่นเอง ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน) อันมีตามที่ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ คือมี
จิตมีราคะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยราคะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง ที่ประกอบด้วยความกำหนัดความปรารถนาในกามทั้ง๕ นั่นเอง
จิตมีโทสะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโทสะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความโกรธความขุ่นเคือง นั่นเอง
จิตมีโมหะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง นั่นเอง
จิตหดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒ เป็นกลุ่มอาการของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านปรุงแต่งที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ
จิตฟุ้งซ่าน เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่ ๑๗ ในเจตสิก ๕๒ เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งไปในสิ่งหรือเรื่องต่างๆ
จิตเป็นฌานหรือมหรคต จิตเป็นฌาณ, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตประกอบด้วยกำลังของฌานอยู่
จิตเป็นสมาธิ จิตมีความตั้งใจมั่นในสิ่งใดอยู่
จิตมีสิ่งอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ, หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา, หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งใดอยู่
จิตวิมุตติหรือจิตหลุดพ้น หมายถึงอาการที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสหรือเจตสิกต่างๆดังที่กล่าว
กล่าวคือ ล้วนมีสติระลึกรู้เท่าทัน กล่าวคือมีสติระลึกรู้ 'จิตหรืออาการของจิตคือเจตสิกที่บังเกิดขึ้น ณ ขณะจิตนั้นๆ'
อนึ่งอาการของจิตทั้งหลายหรือเจตสิก ดังเช่น ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน ฯลฯ. นั้นมันไม่มีอาการเป็นรูปธรรมแท้จริง แต่มันอาศัยแฝงอยู่กับสังขารขันธ์คือการกระทำต่างๆนั่นเอง ดังเช่น ความคิด(มโนสังขาร)ที่ประกอบด้วยราคะ, การทำร้ายผู้อื่นทางกาย(กายสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ, การคิดด่าทอ,ต่อว่า(วจีสังขาร)ที่ประกอบด้วยโมหะคืออาการหลงไปปรุงจนเกิดทุกข์ที่ประกอบด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่นคิดหรือธรรมารมณ์กระทบใจแล้วจะให้รู้สึกเฉยๆ, การเกี้ยวพาราสีทั้งด้วยคำพูดทั้งกริยาท่าทางที่ประกอบด้วยราคะ, จิตคิดฟุ้งซ่านหรือคิดวนเวียนไม่หยุดหย่อนในเรื่องไร้แก่นสาร เช่นคิดไปในอดีต อนาคต ก็คือความคิดที่ประกอบด้วยจิตฟุ้งซ่านนั่นเอง
ใช้วิธีมีสติรู้เท่าทันเวทนาและจิต เป็นหลักปฏิบัติประจําเมื่อปฏิบัติจนชํานาญแล้ว และเห็นเวทนาในเวทนา(เวทนานุปัสสนา)เข้าใจถึงใจ และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว จิตจักรู้สภาพจิตสังขารหรืออาการของจิต(เจตสิก)ที่เกิดขึ้น คือ เห็น ตัณหา ราคะ โมหะ โทสะ ชัดเจนขึ้น เมื่อจิตเห็นจิต หรือเห็นจิตในจิต เช่นนี้เรื่อยๆ จิตจะเห็นความคิดอารมณ์ที่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสภาวธรรมอันไม่เที่ยง ไม่มีแก่นแกนหรือแก่นสาร และก่อให้เกิดทุกข์อย่างชัดแจ้ง อันทําให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในสภาวธรรม จิตจักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาและจิตที่ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ และอนัตตา อันก่อให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ เห็นความคิด(จิตหรือจิตตสังขารนั่นเอง) และการเสวยอารมณ์ต่างๆ(เวทนา) ว่าเป็นไปตามไตรลักษณ์ ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหาจึงย่อมเกิดการยึดด้วยอุปาทานเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ดังนั้นเมื่อไปอยากหรือไปยึดไว้ด้วยเหตุผลกลใดก็ดี เมื่อมีการแปรปรวนด้วยอนิจจังหรือดับไปด้วยทุกขังเพราะสภาวธรรมจึงไม่เป็นไปตามปรารถนาจึงเป็นทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนขึ้นนั่นเอง
ในทางปฏิบัติของการ เห็นจิตในจิต คือสติเห็นจิตสังขาร(เช่นความคิด)ที่เกิดขึ้นว่า สักแต่ว่าจิตสังขารตามที่พิจารณาอยู่เนืองๆ แล้วอุเบกขาไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่ง หรือกริยาจิตใดๆ ดังการคิดเรื่อยเปื่อยหรือฟุ้งซ่านจึงย่อมยังให้เกิดเวทนาอื่นๆที่อาจเป็นปัจจัยจึงมีตัณหาเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อน
(จิตตานุปัสสนานิเทส แสดงความหมายของจิตภายใน ที่มิได้หมายถึงจิตส่งใน และจิตภายนอก)
ต่อด้านล่าง